“สางหนี้ครู” ภารกิจด่วนที่ศธ.เร่งช่วยครูต่อลมหายใจ
     ความคืบหน้าจากการที่กระทรวงศึกษาธิการเร่งจัดทำและขับเคลื่อนแผนแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งระบบ พบว่า ปัจจุบันครู 9 แสนคน ทั่วประเทศ หรือประมาณ 80% มีหนี้รวมกัน 1.4 ล้านล้านบาท เจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุด คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู จำนวน 8.9 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 64 รองลงมาคือธนาคารออมสิน 3.49 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 25 ธนาคารกรุงไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และสถาบันการเงินอื่น ๆ
     ขณะนี้มีครูและบุคลากรทางการศึกษาลงทะเบียนแก้หนี้ตามโครงการแล้วกว่า 41,000 ราย ในจำนวนนี้มีปัญหาที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน คือ การลดดอกเบี้ยเงินกู้กว่า 30,000 ราย รองลงมา มีความเดือดร้อนจากการเป็นผู้ค้ำประกัน การขอปรับโครงสร้างหนี้ และการถูกดำเนินคดีที่ไม่สามารถจะจ่ายหนี้ได้
     ภายหลังการเปิดลงทะเบียนแก้หนี้ครูรอบแรก นายสุทิน แก้วพนา รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 ที่ห้องประชุมอาคาร 2 ชั้น 4 โดยมีนายทศพร ถือพุดซา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรปราการ เขต 1 นายบุญเพชร วันนา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรปราการ เขต 2 นางรุ่งสุรีย์ สิงหราช ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสมุทรปราการ นายวินัย ยงเขตรการณ์ ศึกษาธิการจังหวัดสมุทรปราการ นางธัชชนก เจริญวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) นายวรพจน์ สิงหราช ประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูสมุทรปราการ จำกัด นายอิทธิพัทธ์ ธีระวรรณสาร กรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูสมุทรปราการ จำกัด นางสุรางค์ คัยนันท์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ นายขจร ธนะแพสย์ ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย นายทวีสิทธิ์ ใจห้าว ผู้อำนวยการสำนักตรวจราชการและติดตามประเมินผลสมุทรปราการ นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ นายวชิรพันธ์ นาคก้อน ผู้อำนวยการสำนักนิติการ นายเสถียร คุ้มทรัพย์ ผู้แทนธนาคารออมสิน นายพินิช นาคราช ผู้แทนธนาคารกรุงไทย และคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับการแต่งตั้ง อาทิ นายฐิติวัฒน์ ทองอาสน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรปราการเขต 1 ผู้อำนวยการกลุ่มฯ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
     จากการประชุมร่วมกันจากหลายฝ่าย พบว่า สหกรณ์ออมทรัพย์ครูสมุทรปราการ จะเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่สำคัญ โดยการลดอัตราดอกเบี้ยและขยายระยะเวลา ทั้งนี้จะต้องได้รับความร่วมมือจากสถาบันการเงินช่วยแก้หนี้ให้สำเร็จ ทำให้ครูมีเงินเดือนเหลือพอในการดำรงชีวิตหลังจากชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 30
     อย่างไรก็ดี นายสุทิน แก้วพนา คาดว่าจะใช้เวลาในการแก้ไขปัญหาช่วยเหลือครูให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 1-2 เดือน จึงจะเปิดให้ลงทะเบียนแก้หนี้ครูเป็นเฟสที่สองต่อไป

By Admin

ข่าวสารที่คุณอาจจะพลาด